การศึกษาในคณะวิชาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีแนวทางและระเบียบต่าง ๆ โดยสังเขป ดังต่อไปนี้ (ยกเว้น แนวทางการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งมีแนวทางที่แตกต่างกันบางประการ ซึ่งจะกล่าวไว้ในตอนท้าย) ส่วนรายละเอียดขอให้ศึกษาจากระเบียบมหาวิทยาลัยฯ ว่าด้วยการศึกษาขั้นปริญญาตรี พ.ศ. 2457
1. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
1) สำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดของการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาอื่นที่เทียบเท่า
2) ผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นนักศึกษาตามวิธีที่มหาวิทยาลัยกำหนด
3) ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เรื้อรังที่แพร่กระจายได้หรือโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
2. ระบบการศึกษา
มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาระบบทวิภาค โดย 1 ปีการศึกษา แบ่งเป็น 2 ภาคการศึกษาปกติ ซึ่งเป็นภาคการศึกษาบังคับคือ ภาค 1 และภาค 2 แต่ละภาคใช้เวลาประมาณ 15 สัปดาห์ ส่วนในภาคฤดูร้อนเป็นภาคการศึกษาที่ไม่บังคับใช้เวลาประมาณ 7 สัปดาห์
3. การวัดและการประเมินผล
การวัดและประเมินผล เป็นหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอนหรือผู้ที่คณะเจ้าของวิชาจะกำหนด อาจกระทำโดยการสอบหรือวิธีอื่น เช่น พิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรม เป็นต้น การสอบอาจมีได้หลายครั้งและการสอบไล่หมายถึง การสอบครั้งสุดท้ายของรายวิชานั้น ผลของการเรียนจะวัดและประเมินผลเป็นระดับคะแนนหรือสัญลักษณ์
1) การวัดและประเมินผลเป็นระดับคะแนน แบ่งเป็น 8 ระดับ โดยกำหนดเป็นอักษร A B+ B C+ C D+ D และ E
ในแต่ละตัวอักษรมีความหมายดังนี้
ระดับคะแนน ความหมาย ค่าระดับคะแนน (ต่อ 1 หน่วยกิต)
A ดีเยี่ยม (Excellent) 4.0
B+ ดีมาก (Very Good) 3.5
B ดี (Good) 3.0
C+ พอใช้ (Fairly Good) 2.5
C ปานกลาง (Fair) 2.0
D+ อ่อน (Poor) 1.5
D อ่อนมาก (Very Poor) 1.0
E ตก (Fail) 0.0
นักศึกษาที่ได้ระดับคะแนน E จะต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชานั้นซ้ำ ยกเว้นเป็นรายวิชาในหมวดวิชาเลือกเสรีตามโครงสร้างหลักสูตร
2) การวัดและการประเมินผลเป็นสัญลักษณ์ แบ่งเป็นอักษร G P F S และ U อักษรแต่ละตัวมีความหมายดังนี้
G (Distinction) หมายถึง ผลการศึกษาอยู่ในขั้นดี
P (Pass) หมายถึง ผลการศึกษาอยู่ในขั้นดีพอใช้
นักศึกษาอาจเลือกลงทะเบียนเรียนรายวิชาที่ไม่ใช่วิชาบังคับของหลักสูตรโดยไม่นับหน่วยกิตสะสมได้ การวัด
และประเมินผลรายวิชาลักษณะนี้ ใช้สัญลักษณ์ S และ U อักษรแต่ละตัวมีความหมายดังนี้
F (fail) หมายถึง ผลการศึกษาอยู่ในขั้นตก
S (Satisfactory) หมายถึง ผลการศึกษาเป็นที่พอใจ
U (Unsatisfactory) หมายถึง ผลการศึกษาไม่เป็นที่พอใจ
ส่วนสัญลักษณ์อื่นๆ ได้แก่
I (Incomplete) หมายถึง การวัดและประเมินผลยังไม่สมบูรณ์
W (Withdrawn) หมายถึง ถอนหรือยกเลิกการลงทะเบียนเรียน
R (Deferred) หมายถึง เลื่อนกำหนดการวัดและประเมินผลไปเป็นภาคการศึกษาปกติถัดไป
นักศึกษาที่ทุจริตในการวัดผล จะได้รับระดับคะแนน E หรือสัญลักษณ์ F หรือ U ในรายวิชาที่กระทำการทุจริตหรืออาจพิจารณาโทษทางวินัย เช่น
1. ให้พักการศึกษาไม่น้อยกว่าหนึ่งภาคการศึกษา
2 ให้ได้ระดับคะแนน E หรือสัญลักษณ์ F หรือ U ทุกรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษานั้น
3. ให้ออก
4. ไล่ออก
4. สถานภาพการศึกษา
มหาวิทยาลัยจะนำผลการศึกษาของนักศึกษาแต่ละคนมาคำนวณเป็นแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสม เพื่อกำหนดสถานภาพของนักศึกษา
สถานภาพของนักศึกษามี 2 ประเภท คือ
1) นักศึกษาปกติ หมายถึง นักศึกษาที่ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 2.00 ขึ้นไป
2) นักศึกษาในภาวะรอพินิจ หมายถึง นักศึกษาที่ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ถึง 2.00 และมีสิทธิ์อยู่ในภาวะรอพินิจได้ 3 ครั้งหากได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ถึง 2.00 หลังจากได้รับภาวะรอพินิจครั้งที่ 3 จะต้องพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา
5. การลา
การลามี 3 ประเภท
1) ลาป่วยหรือลากิจ ถ้าลาไม่เกิน 7 วันต้องได้รับการอนุมัติจากอาจารย์ผู้สอนและแจ้งอาจารย์ที่ปรึกษาทราบ หากลาเกิน 7 วันต้องได้รับการอนุมัติจากคณบดี โดยผ่านอาจารย์ที่ปรึกษา
2) ลาพักการศึกษา นักศึกษามีสิทธิ์ลาพักการศึกษาได้ไม่เกิน 2 ภาคการศึกษาติดต่อกัน และใน 2 ภาคการศึกษาแรก (คือ ภาค 1 และภาค 2 ของปีที่ 1) นักศึกษาไม่มีสิทธิ์ลาพักการศึกษา ยกเว้นกรณีป่วย หรือถูกเกณฑ์หรือระดมเข้ารับราชการทหารกองประจำการหรือได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และในการลาพักการศึกษานั้นนักศึกษาจะต้องชำระค่ารักษาสถานภาพนักศึกษาทุกภาคการศึกษาตามอัตราที่มหาวิทยาลัยกำหนด
3) ลาออก นักศึกษาที่จะลาออกจะต้องมีใบรับรองจากผู้ปกครองผ่านอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อขออนุมัติต่ออธิการบดี
6. การเสนอชื่อเพื่อรับปริญญา
นักศึกษาจะรับการเสนอชื่อเพื่อรับปริญญาได้ เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วน ดังต่อไปนี้
1) ได้ศึกษาและผ่านการวัด และประเมินผลรายวิชาต่างๆ ครบถ้วนตามหลักสูตรและข้อกำหนดของสาขาวิชาที่จะรับปริญญา โดยไม่มีรายวิชาใดได้สัญลักษณ์ I หรือ R ค้างอยู่ ทั้งนี้รวมถึงรายวิชาที่ได้รับการเทียบโอนและรับโอนด้วย
2) ผู้มีสถานภาพเป็นนักศึกษาอยู่ และได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 หากเป็นนักศึกษาที่โอนย้ายมาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น จะต้องศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อย่างน้อย 1 ปีการศึกษา
3) ไม่อยู่ในระหว่างการรอรับโทษทางวินัยที่ระบุให้งดการเสนอชื่อเพื่อรับปริญญาชั่วระยะเวลาหนึ่ง
4) ได้ปฏิบัติตามระเบียบต่างๆ ครบถ้วนและไม่มีหนี้สินใดๆ ต่อมหาวิทยาลัย
5) ได้ดำเนินการเพื่อขอรับปริญญาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
7. การได้รับปริญญาเกียรตินิยม
นักศึกษาที่มีผลการเรียนดีจะได้รับปริญญาเกียรตินิยม 2 ระดับคือ
1) เกียรตินิยมอันดับ 1 ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับ 1 จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1.1ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 3.50 ขึ้นไป
1.2 ไม่เคยได้ค่าระดับคะแนนต่ำกว่า 2.00 หรือสัญลักษณ์ F หรือ U ในรายวิชาใดๆ
1.3 ใช้เวลาศึกษาไม่เกินจำนวนปีการศึกษาต่อเนื่องกันตามแผนการศึกษาของสาขาวิชาที่จะได้รับปริญญา
1.4 ไม่เคยเป็นผู้มีประวัติได้รับการลงโทษเนื่องจากผิดวินัยอย่างร้ายแรง
1.5 นักศึกษาที่ย้ายคณะ/สาขาวิชา/นักศึกษาที่เคยศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสอบเข้าได้ใหม่/นักศึกษาที่รับโอนมาจากมหาวิทยาลัยอื่น/นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ไปศึกษารายวิชาในสถาบันอุดมศึกษาอื่นทั้งภายในและต่างประเทศและนักศึกษาที่ขอเข้าศึกษาปริญญาที่สองต้องได้รับการเทียบโอน/รับโอนรายวิชาไม่เกินกึ่งหนึ่งของหลักสูตรและต้องมีแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมของรายวิชาที่เทียบโอนหรือรับโอนไม่ต่ำกว่า 3.50
2) เกียรตินิยมอันดับ 2 ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับ 2 จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
2.1 ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 3.25 ขึ้นไป แต่เป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ ได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับ 1
2.2 ไม่เคยได้ค่าระดับคะแนนต่ำกว่า 2.00 ในรายวิชาเอกใดๆ ของหลักสูตรนั้น
2.3 ไม่เคยได้รับระดับคะแนน E หรือสัญลักษณ์ F หรือ U ในรายวิชาใดๆ
2.4 ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมาแล้ว ไม่เกินจำนวนปีการศึกษาต่อเนื่องกันตามที่กำหนดในแผนการศึกษา
2.5 ไม่เคยเป็นผู้มีประวัติได้รับการลงโทษเนื่องจากผิดวินัยอย่างร้ายแรง
2.6 เหมือนข้อ 1.5 แต่ต้องมีแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมของรายวิชาที่เทียบโอนหรือรับโอนไม่ต่ำกว่า 3.25
8. การขอเข้ารับการศึกษาเพื่อปริญญาที่สอง
นักศึกษาที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันอุดมศึกษา หรือกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีสิทธิ์ขอเข้าศึกษาเพื่อรับปริญญาที่สองในสาขาวิชาอื่นได้ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการประจำคณะ และอธิการบดี
9. การพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา
นักศึกษาจะพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาในกรณีต่อไปนี้
1) ตายหรือลาออก
2) ถูกให้ออก หรือไล่ออก เนื่องจากต้องโทษทางวินัย
3) ไม่ได้ลงทะเบียนเรียนภายใน 30 วัน นับจากวันเปิดภาคการศึกษาปกติ โดยไม่ได้รับการอนุมัติให้ลาพักการศึกษา
4) ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 1.50 ยกเว้นนักศึกษาที่เริ่มเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยในสองภาคการศึกษาปกติแรก
5) ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 1.25 ในภาคการศึกษาปกติที่สองที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย
6) ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 1.70 ในภาคการศึกษาปกติถัดไป หลังจากได้รับภาวะรอพินิจครั้งที่ 1
7) ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 1.90 ในภาคการศึกษาปกติถัดไป หลังจากได้รับภาวะรอพินิจครั้งที่ 2
8) ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 2.00 ในภาคการศึกษาปกติถัดไป หลังจากได้รับภาวะรอพินิจครั้งที่ 3
9) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมาแล้ว เป็นระยะเวลาเกิน 2 เท่าของจำนวนปีการศึกษาต่อเนื่องกันที่ได้กำหนดไว้ในแผนการศึกษาของสาขาวิชาที่ศึกษาอยู่
10) ได้รับการอนุมัติปริญญา
11) คณะกรรมการแพทย์ซึ่งแต่งตั้งโดยอธิการบดีวินิจฉัยว่าป่วย จนเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาหรือเป็นอันตรายต่อผู้อื่น ทั้งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำคณะ
การศึกษาในคณะแพทยศาสตร์
ผู้ที่สอบได้คณะแพทยศาสตร์ จะต้องทำสัญญาการเป็นนักศึกษาและมีสัญญาค้ำประกัน โดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้ค้ำประกันตามประกาศของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้ว ต้องปฏิบัติงานในส่วนราชการหรือองค์การไม่น้อยกว่า 3 ปีติดต่อกันหากไม่ปฏิบัติตามสัญญา จะต้องชดใช้เงินให้กับมหาวิทยาลัยเป็นจำนวน 400,000 บาท
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตเป็นหลักสูตร 6 ปี โดยแบ่งเวลาศึกษาเป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะที่ 1 (Premedical year) ในชั้นปีที่ 1 เป็นการบูรณาการเนื้อหาด้านการศึกษาทั่วไปให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้และยังเชื่อมโยงไปสู่การเรียนในระยะที่ 2 และ 3 ต่อไป เป็นการศึกษารายวิชาของคณะศิลป-ศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์
2. ระยะที่ 2 (Preclinical years) ในชั้นปีที่ 2 และ 3 เป็นการศึกษาวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยบูรณาการความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างและหน้าที่การทำงานโดยปกติของร่างกายมนุษย์กับพยาธิสภาพต่างๆ อันเป็นพื้นฐานของการเรียนในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
3. ระยะที่ 3 (Clinical years) ในชั้นปีที่ 4-6 เป็นการเรียนรู้ความผิดปกติหรือโรคต่างๆ ทั้งทางกายและจิตใจ โดยมีการบูรณาการความรู้จากทฤษฎีกับประสบการณ์ในผู้ป่วยจริง เพื่อให้มีความรู้และทักษะตามเกณฑ์มาตรฐานของแพทยสภา โดยในชั้นปีที่ 6 จะเป็นการฝึกปฏิบัติงานในการตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยตนเอง ภายใต้ความรับผิดชอบของอาจารย์แพทย์
ในกรณีที่นักศึกษาไม่สามารถศึกษาจนจบหรือไม่ประสงค์จะเรียนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต สามารถยื่นคำร้องขอรับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ หากนักศึกษาได้ลงทะเบียนเรียนรายวิชาครบตามโครงสร้างของหลักสูตร
การศึกษาในคณะทันตแพทยศาสตร์
ผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาในคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะต้องทำสัญญาการเป็นนักศึกษาเพื่อศึกษาวิชาทันตแพทยศาสตร์และสัญญาค้ำประกัน ตามประกาศของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้วจะต้องรับราชการหรือทำงานในสถานศึกษาส่วนราชการหรือองค์กรของรัฐบาลแห่งใดแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 ปีติดต่อกัน หากไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะต้องชดใช้เงินให้แก่มหาวิทยาลัยจำนวนเงิน 400,000 บาท และหากลาออกจากการเป็นนักศึกษาหรือมีเจตนาจงใจ ละเลย ทอดทิ้งการศึกษาหรือประพฤติตนไม่สมควรเป็นเหตุให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา จะต้องชดใช้เงินเป็นเบี้ยปรับให้กับมหาวิทยาลัย
หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิตเป็นหลักสูตร 6 ปี ในสองปีแรกนักศึกษาเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปและพื้นฐานทางการแพทย์ ใน 4 ปี หลังนักศึกษาเรียนวิชาทางทันตแพทยศาสตร์และฝึกปฏิบัติทางทันตกรรมทั้งในและนอกสถานที่ กำหนดให้นักศึกษาลงทะเบียนเรียนเป็นระบบทวิภาคในชั้นปีที่ 1 ถึงชั้นปีที่ 6 ลงทะเบียนเรียนเป็นรายปี
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 6 ต้องสอบประมวลความรู้เพื่อประเมินความรู้ความสามารถ โดยผลการประเมินจะต้องได้สัญลักษณ์ S จึงจะมีสิทธิ์ขอรับปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต
การศึกษาในคณะเภสัชศาสตร์
การศึกษาเพื่อปริญญาเภสัชศาสตรบัณฑิตของคณะเภสัชศาสตร์ แบ่งเป็น 2 สาขา คือ
1. เภสัชศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร 5 ปี) โดยวุฒิที่ได้รับ คือ ภ.บ.
2. เภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม (หลักสูตร 6 ปี) โดยวุฒิที่ได้รับ คือ ภ.บ. (การบริบาลทางเภสัชกรรม)
การศึกษาตามหลักสูตร 5 ปี นั้นใช้หลักสูตรกึ่งเฉพาะทาง กล่าวคือ นักศึกษาจะต้องเรียนรายวิชาต่าง ๆ ตลอดหลักสูตร 190 หน่วยกิต ตามลำดับ คือ รายวิชาพื้นฐานทั่วไปทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งจัดสอนโดยคณะศิลปศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ รายวิชาพื้นฐานทางวิชาชีพ รายวิชาวิชาชีพทางเภสัชศาสตร์ ซึ่งมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และในปีสุดท้ายนักศึกษาต้องเลือกเรียนรายวิชาเลือกทางวิชาชีพที่เป็นวิชากึ่งเฉพาะทางในแต่ละสาขา จำนวน 15 หน่วยกิต เพื่อให้เกิดความรู้ ความชำนาญในสาขานั้น ๆ เพิ่มขึ้น โดยมีสาขากึ่งเฉพาะทางให้เลือกเรียน 2 สาขา คือ สาขาวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์ และสาขาเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหาร และเพื่อเพิ่มประสบการณ์จริงในวิชาชีพนักศึกษาจะต้องฝึกปฏิบัติงานในแหล่งฝึกปฏิบัติงานเชิงวิชาชีพ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมยา โรงพยาบาล ร้านยา บริษัทจัดจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ อย่างน้อย 500 ชั่วโมง ก่อนการสำเร็จการศึกษานักศึกษาต้องผ่านการสอบรวบยอด (Comphensive examination) ซึ่งจัดสอบโดยคณะ ฯ ด้วย
สำหรับหลักสูตร 6 ปีนั้น มีจำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 250 หน่วยกิต โดยมีการเรียนรายวิชาพื้นฐานทั่วไปคล้ายกับหลักสูตร 5 ปี แต่รายวิชาพื้นฐานทางวิชาชีพและรายวิชาวิชาชีพทางเภสัชศาสตร์จะเป็นการศึกษาเน้นการให้การบริบาลหรือการดูแลผู้ป่วยเรื่องการใช้ยาในสถานพยาบาลหรือสถานบริการทางสาธารณสุขต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล ร้านยา อย่างไรก็ตามนักศึกษายังคงต้องศึกษารายวิชาที่เกี่ยวข้องกับตัวยาและการผลิตยาด้วยเช่นเดียวกัน ในหลักสูตรนี้นอกจากการฝึกปฏิบัติงานเชิงวิชาชีพทั่วไป 500 ชั่วโมง แล้วนักศึกษาต้องฝึกปฏิบัติงานการบริบาลทางเภสัชกรรมอย่างเข้มข้นตลอดการศึกษาในปีสุดท้ายด้วย และเพื่อให้การศึกษาบรรลุวัตถุประสงค์ตามหลักสูตร นักศึกษาในหลักสูตรนี้ต้องผ่านการสอบรวบยอดและการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเองตามที่คณะและมหาวิทยาลัยกำหนดด้วย
ในปีนี้นักศึกษายังคงต้องจะต้องทำสัญญาการเป็นนักศึกษาและมีสัญญาค้ำประกันโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้ค้ำประกันตามประกาศของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเมื่อภายหลังจากสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้วต้องปฏิบัติงานในส่วนราชการหรือองค์กรของรัฐบาลต่าง ๆ ตามที่รัฐกำหนดเป็นเวลา 2 ปี ติดต่อกันสำหรับนักศึกษาในหลักสูตร 5 ปี ส่วนนักศึกษาในหลักสูตร 6 ปีนั้นเนื่องจากในขณะนี้การร่างสัญญายังไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงยังไม่สามารถแจ้งรายละเอียดของเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ โดยเมื่อสัญญาเสร็จสมบูรณ์แล้วจะแจ้งให้นักศึกษามาทราบเงื่อนไขและทำสัญญาต่อไป
การศึกษาในคณะพยาบาลศาสตร์
ผู้ที่จะศึกษาในคณะพยาบาลศาสตร์ นอกจากจะมีคุณสมบัติเช่นเดียวกันกับนักศึกษาในคณะอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะดังนี้คือ มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่พิการ หรือทุพพลภาพ มีส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร และมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตใช้เวลาในการศึกษา 4 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ 2 ปีแรก ศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไปและพื้นฐานวิชาชีพ ใน 2 ปีหลัง ศึกษาเฉพาะวิชาชีพพยาบาลและผดุงครรภ์
นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ บังคับเรียนในภาคฤดูร้อน 1 ครั้ง คือในปีที่ 2 ในการวัดผลรายวิชาชีพการพยาบาลนี้ ในรายวิชาภาคทฤษฎีจะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า D และในรายวิชาภาคปฏิบัติจะได้คะแนนไม่ต่ำกว่า C จึงจะถือว่าสอบได้ในวิชานั้น
|