หน้าแรก | แผนผังเว็บ 

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี

ชมวีดิทัศน์ "แนะนำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี"

      ประวัติ

      มหาวิทยาลัยได้เริ่มโครงการขยายการศึกษามายังจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ ปี 2533 โดยเริ่มตั้งแต่การจัดตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ คณะทำงานเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีศักยภาพด้านต่าง ๆ สูง เหมาะสมที่จะจัดตั้งสถานศึกษาระดับสูงรองรับการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม กอปรกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีเอง โดยข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน ได้ให้ความสนับสนุนอย่างจริงจัง โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุราษฎร์ธานีจึงพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจสรุปลำดับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ดังนี้
1. มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการขยายการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ตลอดจนคณะทำงานด้านวิชาการ ด้านการจัดหาที่ดิน และคณะกรรมการจัดหาทุน
2. สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติในหลักการให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขยายงานไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2533
3. จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้อนุมัติให้ใช้อาคารสโมสรจังหวัดสุราษฎร์ธานี บริเวณศาลาประชาคม เป็นสำนักงานชั่วคราวของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2533
4. เปิดรับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรรุ่นแรก โดยใช้หลักสูตรวิทยาลัยชุมชนภูเก็ต สาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว มีนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 40 คน และได้เปิดทำการเรียน เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2533
5. ทบวงมหาวิทยาลัย พิจารณาเห็นชอบให้จัดตั้งวิทยาลัยชุมชนสุราษฎร์ธานี ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปีงบประมาณ 2536 ตามหนังสือ ที่ ทม 0204/25300 ลงวันที่ 19 กันยายน 2533
6. รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณ เพื่อการขยายงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปีงบประมาณ 2534 ในวงเงิน 1 ล้านบาท และได้สนับสนุนงบประมาณต่อเนื่องในปีต่อมา ในส่วนของงบดำเนินการ และงบประมาณสำหรับการก่อสร้างอาคารสำนักงานและอาคารเรียนรวม
7. สภามหาวิทยาลัย  ได้พิจารณาเห็นชอบให้จัดตั้งหน่วยงานที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ในระยะแรก 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และวิทยาลัยชุมชนสุราษฎร์ธานี
8. เปิดรับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตร สาขาวิชาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ในปี พ.ศ. 2535
9. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์    ได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อการจัดตั้งวิทยาเขตตามขอ  จำนวน 2 แปลง  คือ  ป่าเขาท่าเพชร อำเภอเมือง  จำนวน 440 ไร่   และป่าทุ่งไสไช อำเภอไชยา จำนวน 4,000 ไร่
10. ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2537 นับเป็นหน่วยงานแรกที่มีการจัดตั้งที่วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
11. คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้มีการจัดตั้งวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี  ซึ่งเป็น 1 ใน 11   วิทยาเขตที่ได้รับการอนุมัติจากการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538

12.  เปิดหลักสูตรปริญญาโท ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์  สาขาวิชาบริหารการศึกษาและประถมศึกษา  ในปี 2538

13.  คณะรัฐมนตรีมีอนุมัติให้วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เป็นวิทยาเขตสารสนเทศ ตามโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาค เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2539
14. ปรับหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรทั้ง 3 สาขา เป็นหลักสูตรอนุปริญญาในปีการศึกษา 2539
15. สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์     ให้ความเห็นชอบหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต     สาขาวิชาผลิตกรรมชีวภาพ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542
16. หยุดรับนักศึกษาหลักสูตรอนุปริญญาทั้ง 3 หลักสูตร ในปีการศึกษา 2541
17. เปิดรับนักศึกษาปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2542 สาขาวิชาผลิตกรรมชีวภาพรุ่นแรก จำนวน 42 คน

18. สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์         ให้ความเห็นชอบหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต        สาขาวิชา เทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2544

19. เปิดรับนักศึกษาปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2544  สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรมในสาขาย่อย 3 สาขา ได้แก่ การจัดการอุตสาหกรรม  การจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม และการจัดการอุตสาหกรรมชีวภาพ รุ่นแรก จำนวน 113 คน
20. สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความเห็นชอบหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการจัดการ   
21. เปิดรับนักศึกษาปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2545 สาขาวิชาวิทยาการจัดการรุ่นแรก จำนวน 85 คน
22.  เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2545 สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    ให้ความเห็นชอบจัดตั้งคณะเทคโนโลยีและการ จัดการ

23. สภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมยาง โดยรับนักศึกษารุ่นแรก จำนวน 77 คน ในปีการศึกษา 2547

24. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2546 สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้มีการใช้พื้นที่ของเขตการศึกษาสุราษฎร์ธานี  ที่ตำบลทุ่งใสไช  อำเภอไชยา สำหรับมหาวิทยาลัยมหิดลในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยง สายพันธุ์กุ้ง

25. สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อนุมัติให้ใช้ชื่อ  “ เขตการศึกษาสุราษฎร์ธานี ”  แทนโครงการจัดตั้งวิทยาเขต    สุราษฎร์ธานี และอนุมัติเห็นชอบแผนพัฒนาเขตการศึกษาสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2547-2554

26. สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ให้ความเห็นชอบหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิตสาขาวิชาธุรกิจเกษตร สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ และสาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศโดยรับนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 48 คน ในปีการศึกษา 2548

27.สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เห็นชอบการแบ่งโครงสร้างสำนักงานเขตการศึกษาสุราษฎร์ธานีเห็นชอบการมีสำนักงานคณะเทคโนโลยีและการจัดการ  และเห็นชอบการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2548

28. สภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาเทคโนโลยีการแปรรูปชีวภาพ โดยรับนักศึกษารุ่นแรก จำนวน 8  คน ในปีการศึกษา 2549
30. คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้ดำเนินการรับนักศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ  โดยรับนักศึกษารุ่นแรก จำนวน 43 คน  ในปีการศึกษา 2550
31. สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ให้ความเห็นชอบหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษา การสื่อสาร และธุรกิจ โดยรับนักศึกษารุ่นแรก ในปีการศึกษา 2551

32. สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ให้ความเห็นชอบการปรับโครงสร้างภายในวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และให้ความเห็นชอบการปรับเปลี่ยนชื่อหน่วยงานภายใน จากเดิม “คณะเทคโนโลยีและการจัดการ” เป็น “คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม” และ “คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์” เป็น “คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ” ในปี พ.ศ. 2551               

33. สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รับทราบการให้ความเห็นชอบในการปรับปรุงหลักสูตร จากเดิม “หลักสูตรวิทยา-ศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาผลิตกรรมชีวภาพ” เป็น “หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตทางชีวภาพ” และ “หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต  สาขาวิชาวิทยาการจัดการ” เป็น “หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต  สาขาวิชาพัฒนาธุรกิจ” โดยเริ่มใช้กับนักศึกษารหัส 52 เป็นต้นไป

34. การก่อสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และเครื่องมือกลางแล้วเสร็จ ทำให้มีความพร้อมในการเรียนการสอนรายวิชาปฏิบัติการวิทยาศาสตร์มากขึ้น ในปี พ.ศ. 2552

35. สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ให้ความเห็นชอบหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมีเพื่ออุตสาหกรรม โดยรับนักศึกษารุ่นแรก ในปีการศึกษา 2553


      จุดเด่นของวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี

     มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของภาคใต้ตอนบน ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต บริการวิชาการและทำนุบำรุงวัฒนธรรม มุ่งเน้นสร้างความเป็นเลิศในด้านทรัพยากรชีวภาพ เทคโนโลยีและการจัดการ โดยมีการวิจัยเป็นพื้นฐาน นี่คือวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี

     ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี มีภารกิจหลักในการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดมา ปัจจุบันวิทยาเขตสุราษฏร์ธานี มีผลงานวิจัยที่น่าสนใจและโดดเด่นมากมายที่ได้รับการยอมรับและตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ ทั้งวารสารในประเทศและวารสารต่างประเทศ

     ด้วยความพร้อมและศักยภาพด้านต่างๆ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี จึงมีความมุ่งมั่นที่ก้าวไปสู่การเป็นวิทยาเขตนานาชาติระดับขนาดกลาง เป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยและบริการวิชาการของภาคใต้ตอนบน เป็นผู้นำและมีความเป็นเลิศในสาขาวิชาที่บูรณาการศาสตร์ด้านการจัดการเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สำหรับทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน สร้างสรรค์บัณฑิตให้เป็นปัญญาชนที่สามารถใช้ภาษาสากลและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีขุมพลังจากบุคลากรที่มีความสามารถและเสียสละ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้องค์กรก้าวสู่ความเป็นเลิศทางการศึกษา


      หน่วยงาน

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี ประกอบด้วย
วิทยาลัยชุมชนสุราษฎร์ธานี
เป็นสถาบันชั้นนำในการจัดการศึกษาตลอดชีพ เป็นศูนย์บริการวิชาการที่ตอบสนองต่อความต้องการชองชุมชนและท้องถิ่นในภูมิภาค โดยมีพันธกิจ ดังนี้
  • ผลิตและเสริมศักยภาพบุคลากรเพื่อสนับสนุนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดในภาคใต้ตอนบน
  • พัฒนาหลักสูตรและระบบการเรียนรู้ของประชาชนและการจัดการความรู้เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็ง ของชุมชนตามเจตนารมของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ว่าด้วยการจัดการศึกษาตลอดชีวิตและการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
  • เป็นหน่วยงานกลางของวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ในการประสานและสร้างสรรค์งานบริการวิชาการ งานบำรุงศิลปวัฒนธรรม ตามความต้องการของหน่วยงานภายในและสังคมภายนอก
  • เป็นหน่วยงานกลางในการนำหลักสูตรของคณะวิชาหรือสถาบันการศึกษาภายนอกมาเปิดสอนที่มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
  • ผลิตผลงานวิจัยที่เสริมสร้างและใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น
  • คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
    มีพันธกิจในการ ผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรี โท และ เอก การผลิตงานวิจัย ทางวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยเน้นองค์ความรู้ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งภาคธุรกิจ ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ นอกจากนี้ยังมีภารกิจในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ที่เป็นศาสตร์ของคณะ หรือองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยให้แก่ท้องถิ่นและสังคม ผ่านกระบวนการให้บริการวิชาการรูปแบบต่าง ๆ
    คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ
    มีภารกิจหลักในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาพื้นฐาน ทางด้านภาษา มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และวิทยาการจัดการให้แก่นักศึกษาทุกหลักสูตร ทุกคณะในวิทยาเขตสุราษฏร์ธานี นอกจากนี้ยังรับผิดชอบจัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาพัฒนาธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ บริหารรัฐกิจและวิสาหกิจ และภาษา การสื่อสารและธุรกิจ ซึ่งทุกหลักสูตรมุ่งเน้นการเรียนรู้ระดับสร้างศักยภาพที่แข่งขันได้ สร้างงานได้ โดยเน้นให้นักศึกษาทุกสาขาได้ความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำไปใช้ตลอดจนวิเคราะห์ สังเคราะห์และประยุกต์ได้ ในขณะเดียวกันก็สร้างสมรรถนะสากลพร้อมกับความเป็นไทยทั้งกายและใจให้แก่นักศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรทั้งของภาครัฐและภาคธุรกิจ
    สำนักงานวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
    เป็นหน่วยงานทีมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการให้บริการสนับสนุน และร่วมประสานภารกิจในการดำเนินงานด้านต่างๆ ขององค์กร ประกอบด้วย
  • กลุ่มงานสนับสนุนวิชาการ ได้แก่ งานบริการการศึกษา งานทะเบียนและประเมินผล และงานกิจการนักศึกษา
  • กลุ่มงานบริหารทั่วไป ได้แก่ งานบริหารและพัฒนาระบบ งานบริหารงบประมาณ และงานอาคารสถานที่
  • ศูนย์สนเทศและการเรียนรู้ ได้แก่ งานห้องสมุด งานบริการคอมพิวเตอร์และปฏิบัติการทางภาษา และงานเทคโนโลยีทางการศึกษา
  • ศูนย์ปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และเครื่องมือกลาง เป็นหน่วยงานกลางที่สนับสนุนการเรียนการสอนด้านการปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ให้แก่คณะต่าง ๆ สนับสนุนการวิจัยของบุคลากร และการบริการวิชาการทั้งจากหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 15 ถ.กาญจนวณิชย์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110 โทรศัพท์ 0-7428-2000 โทรสาร 0-7421-2828
    Copyright © 2009 Prince of Songkla University. All rights reserved.