คณะเทคนิคการแพทย์และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์) ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2550 เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกปีการศึกษา 2551 มีจำนวนนักศึกษารวม 46 คน และปรับจำนวนรับนักศึกษาเป็น 60 คน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 เป็นต้นมา โดยมี รศ.ดร. ประเสริฐ สันตินานาเลิศ เป็นประธานหลักสูตรและผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะฯ ในระยะเริ่มแรก (พ.ศ. 2550 - 2552) ปัจจุบัน ดร.รัตนา เรืองไรรัตนโรจน์ เป็นผู้อำนวยการโครงการฯ ระหว่าง มกราคม 2553 – มิถุนายน 2554 และรักษาการในตำแหน่งคณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ ตั้งแต่ มิถุนายน 2554 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีคณาจารย์ประจำ 8 คน , บุคลากรฝ่ายบริหารงานทั่วไปและฝ่ายสนับสนุนวิชาการ 14 คน , จำนวนนักศึกษาชั้นปีที่ 1-4 รวมทั้งหมด 208 คน
เทคนิคการแพทย์เป็นสาขาวิชาที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2547 ภายใต้การควบคุมดูแล โดยสภาเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์ เพื่อให้ได้ซึ่งตัวอย่างทางการแพทย์และการดำเนินการโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการตรวจ ทดสอบ วิเคราะห์ วิจัย และการรายงานผลการตรวจ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย การติดตาม การรักษา การพยากรณ์และการป้องกันโรค หรือเพื่อการประเมินภาวะสุขภาพ และสามารถประยุกต์องค์ความรู้ด้านการวิจัย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเวชศาสตร์ชันสูตร หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ ได้ผ่านการพิจารณาโดยสภาวิชาการในคราวประชุมครั้งที่ 93 (4/2550) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 และได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการประชุมครั้งที่ 297(4/2550) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2550 เปิดสอนเป็นหลักสูตร 4 ปี รับนักศึกษารุ่นแรก ปีการศึกษา 2551
ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคนิคการแพทย์ ได้รับการรับรองโดยสภาเทคนิคการแพทย์ ทีมคณาจารย์ประจำมีความเชี่ยวชาญในงานเทคนิคการแพทย์ มีความมุ่งมั่น เอาใจใส่การเรียนการสอนนักศึกษาอย่างใกล้ชิด ทีมอาจารย์พิเศษผู้มีประสบการณ์การในงานบริการวินิจฉัยโรคในโรงพยาบาลสอนในรายวิชาที่เน้นทักษะการปฏิบัติการ มุ่งพัฒนาศักยภาพความเป็นสากล โดยเน้นสื่อการสอนเป็นภาษาอังกฤษและมีการเตรียมความพร้อมภาษาอังกฤษสำหรับวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ มีความพร้อมในด้านสถานที่อุปกรณ์ การเรียนการสอน ความทันสมัยในเทคโนโลยีสารสนเทศ มีห้องสมุดวิทยาศาสตร์สุขภาพ นักศึกษามีโอกาสเลือกฝึกงานในโรงพยาบาลต่างๆตามความสมัครใจ โดยมีคณะกรรมการฝึกงานวิชาชีพ ช่วยติดต่อประสานงานหาที่ฝึกงานที่มีมาตรฐานได้รับการรับรองคุณภาพ ทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ด้านการดูแลการเรียนนักศึกษา มีการจัดตั้งหน่วยเทคนิคการแพทยศาสตร์ศึกษา มาช่วยพัฒนากระบวนการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้อย่างเข้าใจ และมีความสุขกับการเรียน มีการส่งเสริมการเรียนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน และพี่ช่วยน้อง นักศึกษาแบ่งกลุ่มช่วยกันเรียน รวมทั้งนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษา ด้านส่งเสริมความสัมพันธ์กับวิชาชีพ นักศึกษาเทคนิคการแพทย์ ม.อ. มีพี่เลี้ยงวิชาชีพ (นักเทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาล ม.อ. และโรงพยาบาลใน 5 จังหวัดภาคใต้) ร่วมทำกิจกรรมกับคณะ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพี่ๆเทคนิคการแพทย์กับนักศึกษา เป็นการเพิ่มทักษะสังคม นักศึกษาจะได้รับคำปรึกษาและช่วยเหลืออย่างดี เป็นโอกาสเสริมความมั่นใจในวิชาชีพและเพิ่มโอกาสการได้งานทำเมื่อเรียนจบ
ด้านการบริการวิชาการและสังคม นักศึกษาของคณะจะได้ใช้ความรู้เทคนิคการแพทย์ที่กำลังศึกษาร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์และบริการวิชาการแก่สังคมในโอกาสต่างๆ อาทิ วันผู้บริจาคโลหิตโลก วันประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง การออกค่ายมหิดลร่วมกับนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์