Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.
ในปี พ.ศ.2543 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีแนวคิดในการจัดการศึกษาด้านการแพทย์แผนไทย ในระดับปริญญาตรี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบทอด และพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย ให้เกิดประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพของคนไทย เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งในการพึ่งพาตนเองด้านการดูแลสุขภาพของประชาชน ในปี พ.ศ.2547 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดตั้ง “โครงการจัดตั้งคณะการแพทย์แผนไทย” เพื่อรองรับการเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย ทำหน้าที่ในการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ/บริการวิชาชีพ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยได้เปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2548 เป็นปีการศึกษาแรก “โครงการจัดตั้งคณะการแพทย์แผนไทย” ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็น “คณะการแพทย์แผนไทย” ในปี พ.ศ.2550 (ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ในคราวประชุม ครั้งที่ 302 (9/2550) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2550) และในปี พ.ศ. 2552 คณะการแพทย์แผนไทย ได้ปรับปรุงหลักสูตรเป็น “หลักสูตรการแพทย์แผนไทยบัณฑิต” ได้ใช้หลักสูตรปรับปรุง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 ถึงปีการศึกษา 2554 และเนื่องจากได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552 ในปี พ.ศ.2554 จึงได้ปรับปรุงหลักสูตรอีกครั้งเพื่อให้เป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิที่กำหนด โดยยังคงใช้ชื่อ “หลักสูตรการแพทย์แผนไทยบัณฑิต” และใช้หลักสูตรปรับปรุงใหม่นี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 เป็นต้นไป ในการจัดการเรียนการสอน จะสอนและฝึกให้ผู้เรียนสามารถออกไปประกอบอาชีพด้านการแพทย์แผนไทย ได้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านการวินิจฉัยโรค การใช้ยารักษาโรค การปรุงยาแผนไทย การนวดไทย สปาไทย และการผดุงครรภ์ไทย ตามหลักการของการแพทย์แผนไทย
หลักสูตรการแพทย์แผนไทยบัณฑิต เป็นหลักสูตรที่เน้นทั้งวิชาบรรยาย วิชาปฏิบัติการ และการฝึกปฏิบัติงานเชิงวิชาชีพหรือฝึกประสบการณ์ทางวิชาชีพ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ และทักษะ ที่จะออกไปประกอบอาชีพด้านการแพทย์แผนไทย ได้เป็นอย่างดี มีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ที่จะสำเร็จการศึกษา โดยจัดให้มีการสอบประมวลความรอบรู้ก่อนสำเร็จการศึกษา เป็นส่วนหนึ่งของการประกันคุณภาพการศึกษาของหลักสูตร เป็นการวัดผลการประมวลความรู้เชิงวิชาชีพทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อให้มีความมั่นใจได้ว่าบัณฑิตที่จะสำเร็จการศึกษาออกไปประกอบวิชาชีพ เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ให้กับนักศึกษา ได้แก่ มีการเตรียมความพร้อมอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถสอบขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ใน 4 ประเภท คือ เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การนวดไทย และการผดุงครรภ์ไทย มีการเตรียมความพร้อมและปลูกฝังให้นักศึกษามีความคิดในการสร้างงาน และการประกอบอาชีพอิสระ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เป็นต้นไป และมีการจัดโครงการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในการสมัครงาน สัมภาษณ์งานและการทำงาน ในส่วนของแหล่งงานรองรับเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษา สามารถประกอบอาชีพในโรงพยาบาล/และหรือสถานพยาบาลที่มีการให้บริการสุขภาพทางด้านการแพทย์แผนไทย หรือในสถานบริการสุขภาพของภาคเอกชน เช่น นวดแผนไทย สปา เป็นต้น หรือประกอบวิชาชีพอิสระที่เป็นสถานพยาบาล หรือธุรกิจทางด้านยาสมุนไพร
สีเหลืองเกสรบุนนาค
#d7ae1c